ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
            โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษารูปแบบหนึ่งของการศึกษาคณะสงฆ์เป็นการศึกษาที่รัฐกำหนดให้มีขึ้นตามความประสงค์ของการศึกษา คณะสงฆ์เป็นการศึกษาที่รัฐกำหนดให้มีขึ้นตามความประสงค์ของ (พระราชวรมุนี 2521 : 355) ซึ่งมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งโรงเรียนบาลีมัธยมศึกษาและบาลีวิสามัญศึกษาสำนักเรียนวัดกล่าวคือภายหลังจากที่การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และสภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 และ พ.ศ. 2489 ตามลำดับ ได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จึงได้จัดแผนกมัธยมขึ้นมา เรียกว่าโรงเรียนบาลีมัธยมศึกษากำหนดให้การเรียนบาลี นักธรรม และความรู้ชั้นมัธยม โดยรับรู้ผู้ที่สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาเมื่อโรงเรียนบาลีมัธยมศึกษานี้ได้แพร่ขยายออกไปยังต่างจังหวัดหลายแห่งมีพระภิกษุ และสามเณรเรียนกันมาก ทางคณะสงฆ์โดยองค์การศึกษาจึงได้กำหนดให้เรียกโรงเรียนประเภทนี้ใหม่ว่า โรงเรียนบาลีวิสามัญศึกษาสำนักเรียนวัด โดยมติคณะสังฆมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบกระทรวงให้โรงเรียนบาลีวิสามัญศึกษาสำนักเรียนวัดนี้ เปิดทำการสอบสมทบในชั้นตัวประโยค คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา และเมื่อสอบได้แล้วจะได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระภิกษุและสามเณรนิยมเรียนกันมากโรงเรียนประเภทนี้จึงแพร่หลายออกไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนทำให้ทางการคณะสงฆ์เกรงว่าการศึกษาธรรม และบาลีจะเสื่อมลง เพราะพระภิกษุและสามเณรต่างมุ่งศึกษาวิชาทางโลกมากไป เป็นเหตุให้ต้องละทิ้งการศึกษาธรรมและบาลีเสีย แต่ทางการคณะสงฆ์ก็ยังพิจารณาเห็นความจำเป็นของการศึกษาวิชาในทางโลกอยู่
          ดังนั้นแม่กองบาลีสนามหลวง พระธรรมปัญญาบดี (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถระ) จึงได้ตั้งคณะกรรมการ ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้นใหม่มีวิชาบาลี วิชาธรรม และวิชาทางโลก เรียกว่า บาลีศึกษาสามัญศึกษา และปริทัศน์ศึกษา ได้ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2507 พร้อมกับได้ยกเลิกระเบียบของคณะสังฆมนตรีว่าด้วยการศึกษาของโรงเรียนบาลีวิสามัญศึกษาสำนักเรียนวัดเสีย และกำหนดให้พระภิกษุสามเณรเรียนหระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่คณะสงฆ์ได้จัดขึ้นใหม่ แต่การณ์ปรากฏต่อมาว่า การตั้งสำนักเรียนตามแบบโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีใหม่มีน้อย นักเรียนก็นิยมเรียนกันน้อย เพราะภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ยังพอใจที่จะเรียน โดยได้รับประกาศนียบัตรจากกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ดังนั้น นักเรียนในโรงเรียนดังกล่าว จึงได้พากันเข้าชื่อกันเป็นนักเรียนโรงเรียนราษฎร์ของวัดซึ่งตั้งขึ้นโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการบ้าง สมัครสอบเทียบบ้าง เข้าเป็นนักเรียนผู้ใหญ่บ้าง ทำให้การศึกษาของคณะสงฆ์ในช่วงนี้ระยะนั้นเกิดความสับสนเป็นอันมาก (กรมการศาสนา 2521 : 7-9)
          ในขณะเดียวกันได้มีผู้แทนราษฎรได้ยื่นเรื่องราวขอให้กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการสอบสมทบในชั้นตัวประโยคให้แก่พระภิกษุสามเณร แต่กรมการศาสนาร่วมกับกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาลงความเห็นร่วมกันว่าควรจะตั้งโรงเรียนขึ้นประเภทหนึ่ง เพื่อสนองความต้องการของพระภิกษุสามเณร โดยให้เรียนทั้งวิชาธรรม และวิชาสามัญศึกษาควบคู่กันไป โดยไม่มีการสอบสมทบ แต่ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสอบเอง และโดยพระปรารภของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฎฐายีมหาเถระ) “การศึกษาทางโลกเจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของโลก การศึกษาพระปริยัติธรรม ก็จำเป็นต้องอนุวัตรไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกบ้าง จึงเห็นสมควรที่จะมี หลักสูตรในการเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกแผนกหนึ่ง คือ หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้มีโอกาสบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป”
          ในที่สุด กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาขึ้น เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2514 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2535 ระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2546 (ปัจจุบันใช้ประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ.2553) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้การศึกษาในโรงเรียนดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายศาสนจักร และฝ่ายบ้านเมือง กล่าวคือ ทางฝ่ายศาสนจักรจะได้ศาสนทายาทที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ดำรงอยู่ในสมณธรรม สมควรแก่ภาวะ สามารถธำรงและสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญสถาพรต่อไป และถ้าหากพระภิกษุสามเณรเหล่านี้ลาสิกขาบทไปแล้ว สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาของรัฐได้ หรือเข้าราชการสร้างประโยชน์ให้ก้าวหน้าให้แก่ตนเองและบ้านเมืองสืบต่อไปด้วยเช่นกัน ในระยะเริ่มแรกมีเจ้าอาวาส 51 แห่งรายงานเสนอจัดตั้งต่อกรมศาสนา (คู่มือการปฏิบัติงานโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วิชัย ธรรมเจริญ, 2541 : 3-4)
              เดิมนั้นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบัน สังกัดกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษารายวิชาเพิ่มเติม ภาษาบาลีและพุทธประวัติ ธรรม วินัย ภายใต้กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ.2548 และปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562

 

สำนักเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เขต ๘
สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
**********************
 
                   กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา  กลุ่มที่ ๘  ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙  หลังจากการประชุมผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษาทั่วประเทศไทยที่วัดแจ้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ในระยะนั้นมีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกในกลุ่มภาคอีสานอยู่เพียง  ๑๙  โรง  มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษาในจังหวัดเพชรบูรณ์  ๒  โรง  มาขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเพิ่มอีกคือ  โรงเรียนวัดไพรสณฑ์ศักดาราม  อำเภอหล่มสักและโรงเรียนวัดสระเกศ  อำเภอหล่มเก่า  มีคณะกรรมการบริหารกลุ่มภาคอีสานในขณะนั้นประกอบด้วย

                    ๑.พระราชปรีชาญาณมุนี  ผู้จัดการโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตหนองคาย  วัดศรีษะเกษ  จังหวัดหนองคาย  เป็นประธานกลุ่ม  ( ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น  พระธรรมปริยัติมุนี  และย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร  อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓)
                   ๒.พระครูมงคลเขมคุณ  ครูใหญ่โรงเรียนวัดโกเสยเขต อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย  เป็นรองประธานกลุ่ม (ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตหนองคาย และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระสุนทรธรรมธาดา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑)
                   ๓.พระครูใบฎีกาประมล  สุภาจาโร   เป็นเลขานุการกลุ่ม  (ภายหลังรับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์  เป็น พระครูสุภกิจโกศล  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔)
                    ทำหน้าที่บริหารและจัดการศึกษางานด้านวิชาการภายในกลุ่มให้มีคุณภาพและมาตรฐาน  การบริหารงานกลุ่มได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ  ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา  ปี พ.ศ. ๒๕๑๔  เรื่อยมา  ในระยะนั้นไม่มีเงินงบประมาณสนับสนุนการจัดทำข้อสอบอาศัยเก็บเงินจากสมาชิกกลุ่ม  ๒๐ บาท ต่อนักเรียน  ๑  รูป ต่อปี  การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  สมาชิกกลุ่มก็ปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่มตลอดมาด้วยดี  มีความสามัคคีรักใคร่ช่วยเหลือซึ่งกันและร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี
 
                   ต่อมา  เมื่อปีการศึกษา ๒๕๓๓  พระเทพปริยัติมุนี  ย้ายไปปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดนครพนม  ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงประธานกลุ่มโดย  ผู้จัดการทุกโรงเรียนมีมติเลือกให้  “พระศรีอรรถเมธี”  ผู้จัดการและครูใหญ่โรงเรียนศรีวิชัยวนาราม  อำเภอเมือง  จังหวัดเลย  เป็นประธานกลุ่ม  แต่ท่านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากสุขภาพไม่เอื้ออำนวยมีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัว  จึงได้ถวายตำแหน่งนี้ให้กับพระสุนทรธรรมธาดา สมณศักดิ์ในขณะนั้น  (ปัจจุบันได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพกิตติมุนี ) ผู้รักษาการครูใหญ่โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจังหวัดหนองคาย  เจ้าอาวาสวัดศรีษะเกษ  จังหวัดหนองคาย  โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย
                             ๑.พระสุนทรธรรมธาดา                    เป็นประธานกลุ่มโรงเรียน
                             ๒.พระครูอดุลสังฆการ                     เป็นรองประธานกลุ่มโรงเรียน
                             ๓.พระครูสุภกิจโกศล                       เป็นเลขานุการกลุ่มโรงเรียน
 
                   การดำเนินงานทางวิชาการของกลุ่มโรงเรียนก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  สมาชิกกลุ่มก็ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยกลุ่มโรงเรียนและดำเนินการตามนโยบายและแผนงานต่าง ๆ  ที่ทางกลุ่มตั้งไว้ด้วยดีทุกประการ  ที่สำคัญที่สุดของสมาชิกกลุ่มนี้คือ  การสร้างพลังความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ไม่เคยลดละ  เคยปฏิบัติมาแต่ครั้งแรกอย่างไร  ก็ปฏิบัติกันเช่นนั้นเสมอมา
 
                   ต่อมาเมื่อกรมการศาสนาได้จัดสรรงบประมาณอนุมัติให้มีงบบริหารและบุคลากรนักวิชาการประจำกลุ่มและออกระเบียบว่าด้วยกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา  ปี พ.ศ. ๒๕๓๗  ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ปี พ.ศ. ๒๕๓๕  และใช้ชื่อว่า “กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เขตการศึกษา ๙  ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี  หนองคาย  สกลนคร  เลย และขอนแก่น  ตามเขตการศึกษาในสมัยนั้น  ทางสมาชิกกลุ่มระยะนี้มีจำนวนโรงเรียนเพิ่มขึ้นถึง  ๘๖ โรง  เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งของประธานแล้ว  จึงมีมติให้เลือกประธานใหม่  ที่ประชุมได้เลือกคณะกรรมการบริหารกลุ่มชุดใหม่ประกอบด้วย

                   พระสุนทรธรรมธาดา  ผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจังหวัดหนองคาย  วัดศรีษะเกษ  จังหวัดหนองคาย  เป็นประธานกลุ่ม  ทางประธานกลุ่มพิจารณาเลือกรองประธานและเลขานุการ  ดังนี้
                   ๑.พระกิตติญาณโสภณ  ผู้จัดการโรงเรียนประภัสสรวิทยา วัดศรีนวล  อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  เป็นรองประธานกลุ่มฝ่ายวิชาการ
                   ๒.พระสุนทรปริยัติเมธี  ผู้จัดการโรงเรียนวัดศรีวิชัยวนาราม  อำเภอเมือง  จังหวัดเลย  เป็นรองประธานกลุ่มฝ่ายปกครอง
                   ๓.พระครูกิตติสารสุมณฑ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีจันทร์วิทยา วัดศรีสุทธาวาส  อำเภอเมือง จังหวัดเลย  เป็นรองประธานกลุ่มฝ่ายกิจกรรม
                   ๔.พระมหาโกวิท  กตปุญโญ  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนจันทวิทยาคม วัดมรรคสำราญ  อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  เป็นรองประธานกลุ่มฝ่ายธุรการ
                   ๕.พระครูสุภกิจโกศล  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจังหวัดหนองคาย  วัดศรีษะเกษ  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย  เป็นเลขานุการ
 
                   และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของประธาน  รองประธาน  และเลขานุการ  ทางกลุ่มโรงเรียนได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นมาอีกชุดหนึ่งในแต่ละจังหวัด  ทำหน้าที่ดูแลและเก็บรวบรวมเอกสารของสมาชิกกลุ่ม  เพื่อให้การประสานงานจะได้รวดเร็วยิ่งขึ้นคณะกรรมการบริหารชุดนี้มีทุกจังหวัดที่เป็นสมาชิกกลุ่ม  จะทำหน้าที่คล้ายกับศึกษาธิการจังหวัด  และผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัด
 
                   ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๖  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกประกาศคณะกรรมการการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา  เรื่อง กำหนดกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา  พ.ศ.๒๕๔๖  โดยเป็นการสมควรปรับปรุงประกาศคณะกรรมการโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา ให้มีความเหมาะสมในการบริหารโรงเรียนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น  โดยรวมกลุ่มที่มีขนาดเล็กและแยกกลุ่มที่มีขนาดใหญ่จำนวน  ๑๔  กลุ่มโรงเรียน  ให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานและเกี่ยวกับการปฏิบัติงานให้มีความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น  จึงแยกกลุ่มที่ ๙  ประกอบด้วยโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น  เลย  หนองบัวลำภู  อุดรธานี  หนองคาย  และสกลนคร  ออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๗ และกลุ่มที่ ๘   ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น  เลย  และหนองบัวลำภู  จำนวน  ๔๕ โรง  เป็นกลุ่มที่ ๗  และโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี  หนองคาย  และสกลนคร  จำนวน  ๔๐ โรง  เป็นกลุ่มที่ ๘  และในปี ๒๕๖๐  เพิ่มเป็น จำนวน ๔๓ โรง
 
                   ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๓  ได้มีประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา  พ.ศ.๒๕๕๓  และประกาศคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ว่าด้วยกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา พ.ศ.๒๕๕๕  ให้กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ ๘  ประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร และบึงกาฬ  ให้สำนักงานกลุ่มโรงเรียนตั้งอยู่ในจังหวัดหนองคาย  ทำหน้าที่ดังนี้

                   ๑.ประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนภายในกลุ่ม
                   ๒.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้สอดคล้องตามแผนการพัฒนาโรงเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน
                   ๓.นิเทศ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบการจัดการศึกษาโรงเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน
                   ๔.รวบรวมข้อมูลและพัฒนาสารสนเทศโรงเรียนภายในกลุ่มโรงเรียน
                   ๕.ปฏิบัติหน้าที่อื่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย
 
                   ปัจจุบัน ได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒  ประกอบกับข้อบังคับคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ว่าด้วยโครงสร้างการบริหารงานและการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และสถานศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๓  ข้อ ๑๒ ข. การบริหารงานส่วนภูมิภาค  ให้มีสำนักเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน ๑๔ เขต โดยแต่ละเขตแบ่งส่วนงาน ดังต่อไปนี้
                    ๑.กองอำนวยการ
                    ๒.กองเทคโนโลยีสารสนเทศ
                    ๓.กองนโยบายและแผนการจัดการศึกษา
                    ๔.กองประเมินผลการจัดการศึกษา
                    ๕.กองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษา

                    และประกาศประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เรื่อง หน้าที่และอำนาจของสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ข้อ ๓ ผนวก ค  เขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (เขต ๑-๑๔) ข้อ ๘ เขต ๘ ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย อุดรธานี สกลนคร และบึงกาฬ